ผู้มีบุญ

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

229 พระพุทธเมตตา มหามงคลมุจลินท์ (นิมิตจากหลวงตามหาบัว)

พระพุทธเมตตา มหามงคลมุจลินท์ (นิมิตจากหลวงตามหาบัว)


 ตํานาน ประวัติ องค์ท้าวพญามุจลินท์นาคราช

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก อันมีนามว่า "มุจลินท์" อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน ในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคมีนามว่า "มุจลินท์นาคราช" มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาศ พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๗ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า
              ครั้งล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า "ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง"
              ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์ ไปยังร่มไม้เกตุ อันมีนามว่า "ราชายตนะ" อันอยู่ในทิศทักษิณ แห่งต้นมหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้น สิ้น ๗ วัน เป็นอวสาน ในกาลนั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วันแล้ว จึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลก น้อมผลสมออันเป็นทิพยโอสถเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอเสวย แล้วทรงสรีระกิจลงพระบังคม ทรงสำราญพระกายแล้ว เสด็จเข้าประทับยังร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์นั้น.

น้องฝนฯ ผู้มีญาณทิพย์สัมผัสเห็นรูปปู่พญานาคราชเจ็ดเศียรปรกพระพุทธรูปปางสมาธิ ต่อมาได้เห็นนิมิตจากหลวงตามหาบัวฯประทานชื่อให้ว่า "พระพุทธเมตตา มหามงคลมุจลินท์" ปรากฎมาเพื่อให้ลูกหลานผู้ปฎิบัติธรรมฯ ไว้เป็นที่สักการะบูชา เป็นอนุสติให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไว้กราบไหว้บูชาของญาติธรรมผู้มีสายสัมพันธ์สืบต่อไป.





























































































เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุข หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาโพธิญาณ ท่ามกลางลมฝน เจ็ดวันเจ็ดคืน พญานาคมุจลินท์จึงได้จำแลงตนออกมาจากนาคภิภพ แผ่เศียรทั้ง 7 บังลมฝนไม่ให้ถูกต้องพระวรกายพระพุทธเจ้าได้เลย อันเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก และเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำวันของผู้ที่เกิดวันเสาร์ วันพฤหัสฯ หรือเกิดปีมะโรง มะเส็ง หรือวันเดือนปีใดก็ตามที่เคารพสักการบูชา จะมีโชคลาภ อุดมด้วยทรัพย์สมบัติทั้งปวง รวยตลอดชีวิต คำว่าไม่มีอย่าได้ยิน (ศีลนำโชคทรัพย์มาให้ตลอดชีวิต)      ยังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างถาวร พระพุทธรูปปางนาคปรกเป็นพระพุทธรูปที่แสดงถึงความเคารพเลื่อมใสศรัทธาต่อ องค์สมเด็จพระศาสดาของพญานาค อันเปรียบเสมือนการปกป้องคุ้มครอง และรักษาพระพุทธศาสนาให้ชาวพุทธอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้การอารักขาของพญานาค ผู้ทรงไว้ซึ่งฤทธิ์ ดังที่ได้แผ่พังพานป้องกันลมฝนให้กับพระพุทธองค์




วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

228 พระนางประกายเพชรเกร็ดแก้วจักรพรรดิ์กัญญา (พระนางสุมนาเทวีนาคกัญญา) แห่งเมืองบาดาล

พระนางประกายเพชรเกร็ดแก้วจักรพรรดิ์กัญญา (พระนางสุมนาเทวีนาคกัญญา)  แห่งเมืองบาดาล


นางพระยานาคกัญญา

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นชายยากจนในนครอังครัฐ
วันหนึ่งได้ไปดูพิธีพลีกรรมของพระเจ้าอังคติราชที่ริมน้ำจัมปานที ได้เห็นพระยาจัมเปยยนาคราช นำบริวารจากนาคพิภพใต้แม่น้ำขึ้นมารับพลีกรรม 
ชายยากจนหลงใหลและปรารถนาอำนาจและทิพย์สมบัติของพระยานาค จึงได้เร่งทำบุญและรักษาศีลตั้งจิตอธิษฐานขอเสวยทิพย์สมบัตินั้น

เมื่อพระยานาคราชทำกาลกิริยาไปได้ ๗ วัน ชายยากจนก็ตาย และไปบังเกิดเป็นพระยาจัมเปยยนาคราชสมความปรารถนา ซึ่งในครั้งนั้น พระนางพิมพาก็มาอุบัติเป็นอัครมเหสีนามว่า สุมนาเทวี

พระนางสุมนาเทวี เป็นผู้บำเรอความสุขให้พระยานาคราช โดยนำหมู่นางนาคมาณวิกาแสนโสภามากล่อมบำเรอ จนวิมานนาคเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินดุจทิพย์วิมานของท้าวสักกะในดาวดึงส์สวรรค์

ต่อมา พระยาจัมเปยยนาคราชเกิดความเบื่อหน่ายในเพศพระยานาค ทรงอยากไปเกิดเป็นมนุษย์เพื่อค้นหาสัจจธรรม จึงได้รักษาอุโบสถศีลอยู่ในปราสาท

แต่เมื่อนางนาคมาณวิกาที่ตกแต่งกายงดงามยั่วยวนพากันไปเข้าเฝ้า ศีลของพระยานาคก็ขาดลงอยู่เนืองๆ
พระองค์จึงออกจากปราสาทไปรักษาศีลในพระราชอุทยาน แต่นางนาคมาณวิกาก็ติดตามไปทำให้ศีลขาดอีก

พระยานาคราชจึงดำริว่าการจะรักษาศีลได้นั้นต้องไปยังแดนมนุษย์ 

ครั้งถึงวันอุโบสถ พระองค์จึงขึ้นมารักษาศีลบนโลกมนุษย์ และตั้งสัจจะว่าแม้ต้องเสียชีวิตพระองค์ก็จะรักษาศีลไว้มิให้ขาด ตั้งสัจจะแล้วก็ขนดกายรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้ทางเดิน

เมื่อประชาชนทั้งหลายเดินผ่านไปมาเห็นพระยานาคขนดจอมปลวกอยู่ รู้ว่าเป็นพระยานาคผู้มีฤทธิ์ จึงช่วยกันจัดทำมณฑปให้ เกลี่ยพื้นโดยรอบให้ราบเรียบ และหาเครื่องหอมมาบูชา
พระยานาคราชจึงขึ้นมารักษาอุโบสถศีล ณ ที่นั้นเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางสุมนาเทวีทูลถามพระสวามีว่า พระองค์เสด็จไปรักษาศีลในเมืองมนุษย์บ่อยๆ เมืองมนุษย์นั้นอันตราย หม่อมฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์มีภัย 

พระยาจัมเปยยนาคราชจึงพาพระนางสุมนาเทวีมาที่สระโบกขรณี ตรัสว่า หากพระองค์ได้รับอันตราย น้ำในสระนี้จะขุ่นมัว ถ้าพญาครุฑจับเอาไป น้ำจะเดือดพลุ่งขึ้นมา และถ้าหมองูจับเอาไป น้ำจะกลายเป็นสีแดงเหมือนโลหิต
แล้วพระยานาคราชก็ขึ้นมารักษาอุโบสถศีลตามปกติ


ครั้งนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อลุททกพราหมณ์ ไปเรียนเวทมนต์เป็นหมองูที่เมืองตักกศิลา เมื่อเรียนจบเดินทางกลับบ้านผ่านมาทางนั้น ได้เห็นพระยานาคนอนขนดจอมปลวกอยู่ หมองูจึงคิดว่าถ้าจับงูใหญ่นี้ไปแสดงในเมืองก็จะได้ทรัพย์มากมาย

คิดดังนั้นแล้วหมองูก็ร่ายมนต์ ทำให้พระยานาคเจ็บปวดไปทั้งร่างกาย เมื่อเปิดตาดูเห็นหมองูร่ายมนต์อยู่จึงดำริว่า หากเราโกรธแล้วพ่นลมจมูกออกไป หมองูนี้จะมอดไหม้เหมือนกองเถ้า เราก็จะพ้นจากความเจ็บปวด แต่ศีลของเราก็จะพลอยด่างพร้อย
ดำริแล้ว พระยานาคก็หลับตาข่มความเจ็บปวดไว้

หมองูร่ายมนต์แล้วเคี้ยวโอสถพ่นไปที่กายของพระยานาคราช ด้วยอานุภาพของมนต์และแห่งโอสถ ร่างของพระยานาคก็พองบวมขึ้น แล้วหมองูก็ฉุดหางพระยานาคลากลงจากจอมปลวก บีบลำตัวด้วยไม้ให้ทุพพลภาพ จับศีรษะบีบเค้นให้ปากอ้า แล้วพ่นโอสถเข้าไปในปาก ทำให้พระทนต์ของพระยานาคหลุดถอน ปากเป็นสีแดงเต็มไปด้วยโลหิต

พระยานาคราชทรงอดกลั้นทุกขเวทนา ทรงหลับพระเนตรอยู่ด้วยเกรงว่าศีลของพระองค์จะขาด

หมองูนั้นยังไม่หยุด ขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระยานาคตั้งแต่หางขึ้นไป คล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียด จับหางทุบแล้วจับม้วนพับไปมาอย่างผืนผ้า ทำให้พระยานาคเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

เมื่อมั่นใจว่าพระยานาคหมดกำลังแล้ว หมองูจึงเอาเถาวัลย์มาถักเป็นกระโปรง ลากพระยานาคเข้าไปในเมือง และเปิดการแสดงโดยจับร่างพระยานาคบิดเป็นรูปต่างๆ ทั้งทรงกลมและทรงเหลี่ยม อีกทั้งบังคับให้ฟ้อนรำทำพังพานร้อยอย่างพันอย่าง

มหาชนดูแล้วชอบใจก็ให้ทรัพย์แก่หมองูเป็นอันมาก เมื่อได้ทรัพย์แล้วหมองูก็หากบมาให้เป็นอาหาร แต่พระยานาคไม่ยอมเสวยเพราะรักษาศีล หมองูเอาข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งให้พระยานาคก็ไม่เสวย

หมองูได้นำพระยานาคตระเวณเปิดการแสดงไปทั่วตลอดเดือนหนึ่ง ในที่สุดก็มาถึงกรุงพาราณสี และเปิดการแสดงที่หน้าประตูเมือง


ครั้งนั้น พระเจ้าอุคคเสน ครองกรุงพาราณสี ทรงรับสั่งให้หมองูนำพระยานาคมาเปิดการแสดงที่พระลานหลวงในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอุโบสถ แล้วก็ให้ป่าวประกาศการแสดงไปทั่วพระนคร

เมื่อพระราชาเสด็จออกมาทอดพระเนตร หมองูก็เปิดการแสดง ให้พระยานาคแสดงและฟ้อนรำหลายอย่าง ประชาชนชอบใจพากันปรบมือโบกผ้าด้วยความรื่นรมย์


ฝ่ายพระนางสุมนาเทวีนาคกัญญา ทรงระลึกว่าพระสวามีที่รักของเราเสด็จไปนานครบหนึ่งเดือนแล้ว พระองค์ทรงมีเหตุเภทภัยอะไรหรือเปล่าหนอจึงไม่กลับมา พระนางจึงเสด็จไปตรวจดูสระโบกขรณี เห็นน้ำกลายเป็นสีแดงดังโลหิตก็ทรงทราบว่าพระสวามีของตนถูกหมองูจับเอาไป พระนางจึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวก เห็นร่องรอยที่พระสวามีถูกหมองูจับลากไป พระนางก็ทรงกรรแสงร่ำไห้คร่ำครวญ เสด็จดำเนินติดตามรอยนั้นไปจนถึงนครพาราณสี เห็นหมองูกำลังเปิดการแสดงอยู่

พระนางสุมนาเทวีเสด็จไปยืนอยู่ในนภากาศ ทอดพระเนตรลงมาเห็นพระสวามีกำลังฟ้อนรำถวายพระราชาและถูกทรมานก็สงสารจนน้ำพระเนตรไหล เมื่อพระยานาคเงยหน้าดูเห็นพระมเหสีก็เกิดความละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดหลบอยู่ในกระโปรง
ฝ่ายพระราชาเห็นอาการของพระยานาคราช ก็ทรงสงสัย ครั้นมองไปในอากาศเห็นพระนางสุมนาเทวี จึงตรัสถามว่า


"ท่านผู้มีความงามผ่องใส เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นเทพธิดา หรือคนธรรพ์ หรือเป็นหญิงมนุษย์ เหตุใดท่านจึงเศร้าหมองและนองด้วยหยาดน้ำตา ท่านมาที่นี้เพื่อประสงค์สิ่งใด"


พระนางสุมนาเทวีจึงตอบว่า


"ข้าแต่พระราชา หม่อมฉันมิใช่เทพธิดา หญิงคนธรรพ์ หรือหญิงมนุษย์ แต่หม่อมฉันเป็นนาคกัญญาแห่งนาคนคร
พระยานาคที่หมองูแสดงอยู่นั้นคือสวามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียเถิด"



พระราชาตรัสถามว่า


"ดูก่อนนางนาคกัญญา นาคราชนั้นมีกำลังอันแรงกล้า ไฉนจึงถูกหมองูจับได้เล่า"


พระนางสุมนาเทวีจึงกราบทูลให้พระราชาทรงทราบว่า อิทธิฤทธิ์ของพระยานาคนั้น เพียงพ่นลมหายใจ หมองูก็จะมอดไหม้เป็นกองเถ้า แต่พระยานาคราชนี้เป็นผู้รักษาศีลจึงสู้อุตส่าห์อดกลั้นรับความทุกข์ ด้วยเกรงว่าศีลนั้นจะขาด

พระราชาได้ฟังแล้วจึงขอไถ่ตัวพระยานาคราชด้วยทอง ๑๐๐ แท่ง ภรรยารูปงาม ๒ คน โคอุสุภะ ๑๐๐ ตัว และแก้วมณีเป็นอันมาก แล้วให้ปล่อยตัวพระยานาค

พระยานาคจึงได้กลายร่างเป็นมาณพน้อย ตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอันงดงาม ส่วนพระนางสุมนาเทวีก็ลอยมาจากอากาศมายืนเคียงข้างพระภัสดา

พระยานาคราชได้ยืนประคองอัญชลี ขอบพระทัยพระราชา แล้วทูลเชิญเสด็จพระราชาไปชมทิพย์สมบัติอันโอฬารในนาคพิภพตลอด ๗ วัน เมื่อพระราชาเสด็จกลับ พระยานาคยังได้มอบทรัพย์สมบัติให้อีกหลายร้อยเล่มเกวียน


พระเจ้าอุคคเสนราช มาเกิดเป็น พระสารีบุตร
หมองู มาเกิดเป็น พระเทวทัต
พระยาจัมเปยยนาคราช มาเกิดเป็น พระพุทธเจ้า
พระนางสุมนาเทวี มาเกิดเป็น พระนางพิมพา 





















ถือหม้อน้ำทิพย์อมฤต























































"พระนางประกายเพชรเกร็ดแก้วจักรพรรดิ์กัญญา (พระนางสุมนาเทวีนาคกัญญา)  แห่งเมืองบาดาล"