ผู้มีบุญ

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

240 มกรคายนาค (มังกรนาคราช)

มกรคายนาค (มังกรนาคราช)





มกรคายนาค (มังกรนาคราช)


   มีสัตว์ในจินตนาการชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างแปลก เนื่องจากเราจะพบเป็นปูนปั้นหรือภาพจำหลัก
   ตลอดจนในงานจิตรกรรม พบมากทางแถบภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน
   อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน
   
   "มกร" นี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ นัยว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ
   ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค
   แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาค ออกมานั้นเป็นปากจระเข้
   คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด สำหรับวัดในแถบภาคกลางจะเป็นราวบันไดนาค
   แต่ทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นราวบันไดรูป "มกรคายนาค"
   
   มีผู้คนถามกันมามากมายว่า แล้วตกลงมันคือตัวอะไรแน่ แล้วทำไมจึงต้องคายนาค
   ไม่คายอย่างอื่น จริงๆ แล้วสัตว์ตัวนี้ไม่ได้มีเฉพาะบ้านเรานะครับ ในเขมร ลาว พม่า ก็มี
   เขาเรียกว่า "ตัวสำรอก" ก็คือ ตัวที่คายอะไรต่อมิอะไรออกมา
   ดังนั้น เวลาไปเที่ยววัดให้สังเกตบันไดพญานาคให้ดีว่าเป็นบันไดนาค
   หรือเป็นบันไดมกรคายนาคกันแน่
   วิธีสังเกตก็ให้ดูที่ "คอพญานาค" ว่ามีหน้าสัตว์คล้ายๆ จระเข้อ้าปากอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็ใช่เลย
   แล้วจะเห็นขาของเจ้าตัวมกรซ่อนอยู่ตามเกล็ดพญานาคด้วย
   
   ในความเป็นจริงแล้ว "มกร" มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า "เหรา" อ่านว่า เห-รา
   
   เหรา นี่ไม่ใช่หมายถึง แมงดาทะเล แต่เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
   อาทิ พระธาตุ โบสถ์ วิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ
   ดังนั้น จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ
   ไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์
   
   ส่วนคำว่า "มกร" นั้น เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาจาก "มังกร" ของจีน
   เพราะเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอมาเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาค
   หรือสำรอกพญานาค และมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป
   
   ต่อข้อถามว่า ทำไม? มกรต้องคายนาค ในลักษณะของการสำรอกนั้น
   อาจวิเคราะห์ได้ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะคือ "พญานาค" จะเป็นตัวแทนของกลุ่มเมือง
   หรือ ชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาถึงปัจจุบันว่า "โยนก"
   เมืองโยนกเชียงแสนเดิมของพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราช
   ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาค เรียกว่ามีพญานาคมาสร้างเมืองชื่อโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ
   หรือโยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหายก็เพราะผู้คนพากันกินปลาไหลเผือก
   ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพญานาคนั่นเอง ส่วนสัตว์น่ากลัวเช่น "จระเข้ เหรา"
   จะเป็นตัวแทนของพวก "พยู" หรือ พุกามอันได้แก่พม่า การที่พบศิลปะแบบมกรคายนาค
   ในแถบภาคเหนือพอจะอนุมานได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะ
   และการเมืองของพุกาม หรือ พม่าที่ครอบงำล้านนาอยู่ถึง ๒๐๐ ปีนั่นเอง
   
   หรืออีกนัยหนึ่ง มกร จะเป็นตัวแทนของความไม่รู้ หรือ อวิชชา
   ที่คายนาคออกมา เพื่อจะก้าวเข้าสู่วิชา
   
   ในทางศาสนาพุทธ เชื่อว่า
   เหรา ... หมายถึง "อุปทาน ความยึดติดในตัวเอง ปรัชญาชีวิตที่เราชอบ
   วิธีดำรงชีวิตของเราและสิ่งที่เราติดพันหลงไหลอยู่"
   
   นาค.....หมายถึง "ความมีชีวิต ชีวา กาย จิตของเรา"
   
   ถ้าอุปาทานมันจับเรา เราก็เจ็บปวด ดิ้นรน ทุกข์ทรมาน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร
   บางแห่งเป็นนาคห้าหัว หมายถึงชีวิตที่ประกอบด้วย ร่างกายที่เป็นวัตถุ จิตที่ประกอบด้วยความรู้สึก
   ความทรงจำ ความคิดจินตนาการ องค์ความรู้ที่ทำให้รู้ว่าเรามีอยู่
   
   คนรุ่นเก่าให้สติว่า เหนือฟ้ามีฟ้า เก่งแค่ไหน ความยึดติดกัดเอา ทุกข์แน่ๆ ระวังนะ?
   วิธีแก้คือ ปลุกสติปัญญาดับทุกข์ให้ตื่น ระวังไม่ให้ทุกข์เกิด เมื่อทุกข์เกิดก็กำหนดรู้และละเสีย
   (พระวัดอุโมงค์เมตตาอธิบายให้)
   
   ราม วัชรประดิษฐ์











































































วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

239 นางนาคกัญญา

นางนาคกัญญา
นาคราชรักษาศีล (จมฺเปยฺยชาตกํ) ๕๐๖
                         กา  นุ  วิชฺชุริวาภาสิ...   น  ตํ  มญฺญามิ  มานุสี ฯ...
                         อิทญฺจ  เม  ชาตรูปํ  ปหูตํ...
                         รชฺชญฺจ  กาเรหิ  อโนมปญฺญาติ ฯ
 
ความนำ
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ทรงปรารภการรักษาอุโบสถกรรมคือการสมาทานศีล ๘ ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ  ณ เบื้องต้น 
 
ปัจจุบันชาติ
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสกะอุบาสกและอุบาสิกาผู้สมาทานศีลอุโบสถว่า
“ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายอยู่รักษาอุโบสถกรรมเป็นความดี
เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายแต่เก่าก่อนเคยละสมบัติแห่งนาคราชมาอยู่รักษาศีลอุโบสถแล้ว”
                อันอุบาสกและอุบาสิกาอาราธนาแล้ว ได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติมาตรัสเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้
 
อดีตชาติเนื้อหาชาดก
                        ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอังครัฐ            ราชธานี ในระหว่างแคว้นอังคะและมคธะต่อกันนั้นมีแม่น้ำชื่อจัมปานที ข้างล่างแห่งแม่น้ำนั้นเป็นนาคพิภพมีพระยานาคราชชื่อว่าจัมเปยยะครองราชย์สมบัติอยู่
                        โดยปกติ พระราชาแห่งแคว้นทั้งสองเป็นศัตรูรบกันและผลัดกันแพ้และชนะ                             วันหนึ่ง พระเจ้ามคธราชทรงรบแพ้ได้เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งหลบหนีไปถึงฝั่งจัมปานที พวกทหารพระเจ้าอังคราชตามไปติด ๆ พระองค์ได้กระโดดลงสู่แม่น้ำพร้อมทั้งม้าพระที่นั่งไปปรากฏ               ตรงเฉพาะพระพักตร์แห่งพระยานาคราชนั้น พระยานาคราชได้ทรงช่วยเหลือ เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมด จัมเปยยนาคราชจึงได้ใช้อานุภาพช่วยเหลือยึดแคว้นอังคะมาถวายพระเจ้ามคธราชและสำเร็จโทษพระเจ้าอังคะ
นับแต่นั้นมา ความคุ้นเคยรักใคร่ระหว่างพระเจ้ามคธราชและพระยานาคราชได้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น พระเจ้ามคธราชได้กระทำพลีกรรมแก่พระยานาคราชทุกปี แม้พระยานาคราชก็ออกจากนาคพิภพมารับพลีกรรมเสมอ
มีชายคนหนึ่งเห็นสมบัติของพระยานาคราชก็อยากได้สมบัติอย่างนั้นบ้าง  จึงทำบุญให้ทาน รักษาศีล เมื่อจัมเปยยนาคราชถึงแก่กรรมได้ ๗ วัน เขาก็ถึงแก่กรรมไปเกิดแทนนาคราชองค์เดิมทันทีแต่ก็ไม่พอใจเพราะคิดอยากไปเกิดในสวรรค์มากกว่าที่จะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน จึงคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อถูกบรรดานาคมาณวิกาสวยงามมาบำรุงบำเรอจิตที่คิดฆ่าตัวตายได้หายไป
ต่อมา พระยานาคเกิดอยากไปเกิดเป็นมนุษย์จึงคิดจะไปรักษาอุโบสถกรรมเพื่อจะได้หลุดพ้นจากอัตภาพนี้ไป จักได้แทงตลอดสัจจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ คิดดังนั้นแล้วท่านได้รักษาอุโบสถกรรมอยู่ในปราสาทของตนเอง แต่พวกนางมาณวิกาเข้าไปหาเสมอ ทำให้ท่านต้องตบะแตก            จึงหนีไปรักษาศีลอุโบสถในโลกมนุษย์โดยคิดให้ร่างกายเป็นทาน ชาวบ้านเห็นได้พากันบูชาท่าน
ครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งได้มาจับนาคราชไปโดยใช้อาลัมภายนมนต์ที่เรียนมาร่ายมนต์บังคับพระยานาค แม้จะเจ็บปวด แต่นาคราชก็ไม่กล้าฆ่าหมองูเพราะกลัวศีลจะขาด แม้จะถูกทรมานแค่ไหนจนโลหิตไหลโซมกายแต่ท่านได้ทรงบำเพ็ญขันติบารมีทำการอดกลั้น  ความทุกข์ทรมานและแผ่เมตตาบารมีแก่หมองู
พราหมณ์หมองูนำพระยานาคไปเล่นตามงานต่าง ๆ แล้วคิดว่า เราจักให้นาคราชเล่นถวายพระเจ้าอุคคเสนแล้วค่อยปล่อยไป  วันหนึ่ง เขาได้เข้าเฝ้าพระราชาแล้วบังคับให้พระยานาคฟ้อนรำถวาย มหาชนเห็นแล้วพากันดีใจปรบมือโห่ร้อง วันนั้นเป็นวันที่ครบ ๑ เดือนแห่งการถูกจับมาพอดี
ฝ่ายนางสุมนาเทวีนาคมาณวิการะลึกถึงพระสวามีของตน นางได้ไปในโลกมนุษย์เมื่อทราบเรืองราวทั้งหมดจึงไปยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศในท่ามกลางบริษัท ณ ประตูพระราชวัง ในขณะนั้น พระยานาคกำลังฟ้อนรำถวายพระราชาเมื่อเห็นมเหสีของตนเองก็เกิดละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดในตะกร้าที่อยู่ของตน
 พระราชาเห็นสาวสวยมายืนร้องไห้ในอากาศก็สอบถาม นางจึงเล่าเรื่องความจริงให้ฟังว่า นาคราชที่กำลังฟ้อนรำถวายคือพระสวามีของนางสร้างความแปลกพระทัยให้พระราชาอย่างยิ่งเพราะพระองค์ทราบว่า พระยานาคมีฤทธิ์มากมายทำไมต้องตกเป็นทาสของหมองูด้วย
นางสุมนาเทวีกราบทูลให้ทราบว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระยานาคทำความเคารพพระธรรมคือเบญจศีลและพระธรรมคือการอยู่รักษาอุโบสถจึงยอมเป็นทาสหมองูและขอร้องให้พระราชาได้ช่วยสวามีของนาง
พระราชาจึงโปรดพระราชทานทรัพย์มากมายแก่ลุททกพราหมณ์เพื่อปลดปล่อยนาคราชให้หลุดพ้นจากอิสระ นาคราชอันลุททกพราหมณ์ปล่อยแล้วได้เนรมิตร่างกายเป็นมาณพน้อยโดยมี   นางสุมนาเทวีลอยยืนเคียงข้างพระภัสดาของตน
นาคราชได้ยืนประณมมือนอบน้อมพระราชาและเชื้อเชิญพระราชาให้ไปเยี่ยมวังของตนในนาคพิภพ แต่ก่อนเสด็จไป พระราชาได้ตรัสว่า พระองค์ไม่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์            กะอมนุษย์จะเป็นเพื่อนกันได้
พระยานาคได้ถวายสัตย์สาบานว่าจะไม่กล่าวคำเท็จอย่างเด็ดขาดเพราะที่รอดชีวิตมาได้           ก็เพราะพระคุณของพระราชานั่นเอง ถ้ากล่าวเท็จขอให้ตกนรกอย่าได้ผุดเกิด ทำให้พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระยานาค
จากนั้น พระราชาได้เสด็จไปยังนาคพิภพทันที พระองค์ได้เห็นสมบัติอันยิ่งใหญ่ของพระยานาค จึงสอบถามถึงเหตุผลที่พระยานาคราชได้ละทิ้งสมบัติอันยิ่งใหญ่ไปนอนรักษาศีลอุโบสถเพื่อประโยชน์อะไร พระยานาคราชจึงตรัสให้ทราบว่า เพราะต้องการจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ พระราชาจึงตรัสถามว่า มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุผลอะไร
พระยานาคราชจึงทูลให้ทราบว่า เพราะได้กำเนิดเป็นมนุษย์จึงทำให้เป็นผู้มีศีลและทำให้บรรลุถึงนิพพาน การไปเกิดในมนุษย์จะทำให้ถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะได้
จากนั้น พระยานาคราชได้กราบทูลแด่พระราชาว่า

ชนเหล่าใด มีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคกัญญาและตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด

ความหมายของคาถา
พระยานาคราชมีพระประสงค์จะให้พระราชาตระหนักในความดีคือการทำบุญให้มาก
ครั้นพระยานาคทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอุคคเสนะทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลก จึงตรัสอำลา พระยานาคราชจึงได้ถวายสมบัติมากมายแด่พระองค์ พระราชาเสด็จออกจากนาคพิภพกลับไปสู่พระนครพาราณสีด้วยยศบริวารเป็นอันมาก เล่ากันว่า นับแต่นั้นมา            ชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น
พระพุทธเจ้าครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า
“หมองูคือเทวทัต นางนาคกัญญาสุมนาเทวีคือราหุลมารดา พระเจ้าอุคคเสนราชคือสารีบุตร ส่วนจัมเปยยนาคราชคือเราตถาคตนั่นเอง”
 
สรุปสุภาษิตจากชาดกนี้
                ศีลเป็นสิ่งยอดเยี่ยมในโลก

วิเคราะห์แนวคิดเชิงจริยธรรมอันเป็นหัวใจหลักในชาดกนี้
                ชาดกเรื่องนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความดีของการรักษาศีลอุโบสถคือการรักษาศีล ๘ นั่นเอง การรักษาศีล ๘ นั้น ถ้าผู้ใดกระทำในเพศฆราวาส ถือว่าผู้นั้นเป็นนักพรตในเพศฆราวาส
                อันที่จริง ถ้าบุคคลใดมีศีล ๘ โดยธรรมชาติอันมาพร้อมการบรรลุอริยมรรค ถือว่าบุคคลนั้นเป็นอริยบุคคลระดับ ๓ คืออนาคามีนั่นเอง
                ยิ่งไปกว่านั้น ชาดกเรื่องนี้ได้ให้ความสำคัญกะเพศมนุษย์มากว่า เป็นภพที่มีบุญเพราะ            อยู่กลาง ๆ ระหว่างความสุขมากและความทุกข์มากเอื้อเฟื้อทำให้บรรลุนิพพานได้ง่าย ฯ