ผู้มีบุญ

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

239 นางนาคกัญญา

นางนาคกัญญา
นาคราชรักษาศีล (จมฺเปยฺยชาตกํ) ๕๐๖
                         กา  นุ  วิชฺชุริวาภาสิ...   น  ตํ  มญฺญามิ  มานุสี ฯ...
                         อิทญฺจ  เม  ชาตรูปํ  ปหูตํ...
                         รชฺชญฺจ  กาเรหิ  อโนมปญฺญาติ ฯ
 
ความนำ
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ทรงปรารภการรักษาอุโบสถกรรมคือการสมาทานศีล ๘ ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ  ณ เบื้องต้น 
 
ปัจจุบันชาติ
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสกะอุบาสกและอุบาสิกาผู้สมาทานศีลอุโบสถว่า
“ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายอยู่รักษาอุโบสถกรรมเป็นความดี
เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายแต่เก่าก่อนเคยละสมบัติแห่งนาคราชมาอยู่รักษาศีลอุโบสถแล้ว”
                อันอุบาสกและอุบาสิกาอาราธนาแล้ว ได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติมาตรัสเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้
 
อดีตชาติเนื้อหาชาดก
                        ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติอยู่ในอังครัฐ            ราชธานี ในระหว่างแคว้นอังคะและมคธะต่อกันนั้นมีแม่น้ำชื่อจัมปานที ข้างล่างแห่งแม่น้ำนั้นเป็นนาคพิภพมีพระยานาคราชชื่อว่าจัมเปยยะครองราชย์สมบัติอยู่
                        โดยปกติ พระราชาแห่งแคว้นทั้งสองเป็นศัตรูรบกันและผลัดกันแพ้และชนะ                             วันหนึ่ง พระเจ้ามคธราชทรงรบแพ้ได้เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งหลบหนีไปถึงฝั่งจัมปานที พวกทหารพระเจ้าอังคราชตามไปติด ๆ พระองค์ได้กระโดดลงสู่แม่น้ำพร้อมทั้งม้าพระที่นั่งไปปรากฏ               ตรงเฉพาะพระพักตร์แห่งพระยานาคราชนั้น พระยานาคราชได้ทรงช่วยเหลือ เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมด จัมเปยยนาคราชจึงได้ใช้อานุภาพช่วยเหลือยึดแคว้นอังคะมาถวายพระเจ้ามคธราชและสำเร็จโทษพระเจ้าอังคะ
นับแต่นั้นมา ความคุ้นเคยรักใคร่ระหว่างพระเจ้ามคธราชและพระยานาคราชได้กระชับมั่นคงยิ่งขึ้น พระเจ้ามคธราชได้กระทำพลีกรรมแก่พระยานาคราชทุกปี แม้พระยานาคราชก็ออกจากนาคพิภพมารับพลีกรรมเสมอ
มีชายคนหนึ่งเห็นสมบัติของพระยานาคราชก็อยากได้สมบัติอย่างนั้นบ้าง  จึงทำบุญให้ทาน รักษาศีล เมื่อจัมเปยยนาคราชถึงแก่กรรมได้ ๗ วัน เขาก็ถึงแก่กรรมไปเกิดแทนนาคราชองค์เดิมทันทีแต่ก็ไม่พอใจเพราะคิดอยากไปเกิดในสวรรค์มากกว่าที่จะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน จึงคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อถูกบรรดานาคมาณวิกาสวยงามมาบำรุงบำเรอจิตที่คิดฆ่าตัวตายได้หายไป
ต่อมา พระยานาคเกิดอยากไปเกิดเป็นมนุษย์จึงคิดจะไปรักษาอุโบสถกรรมเพื่อจะได้หลุดพ้นจากอัตภาพนี้ไป จักได้แทงตลอดสัจจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ คิดดังนั้นแล้วท่านได้รักษาอุโบสถกรรมอยู่ในปราสาทของตนเอง แต่พวกนางมาณวิกาเข้าไปหาเสมอ ทำให้ท่านต้องตบะแตก            จึงหนีไปรักษาศีลอุโบสถในโลกมนุษย์โดยคิดให้ร่างกายเป็นทาน ชาวบ้านเห็นได้พากันบูชาท่าน
ครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งได้มาจับนาคราชไปโดยใช้อาลัมภายนมนต์ที่เรียนมาร่ายมนต์บังคับพระยานาค แม้จะเจ็บปวด แต่นาคราชก็ไม่กล้าฆ่าหมองูเพราะกลัวศีลจะขาด แม้จะถูกทรมานแค่ไหนจนโลหิตไหลโซมกายแต่ท่านได้ทรงบำเพ็ญขันติบารมีทำการอดกลั้น  ความทุกข์ทรมานและแผ่เมตตาบารมีแก่หมองู
พราหมณ์หมองูนำพระยานาคไปเล่นตามงานต่าง ๆ แล้วคิดว่า เราจักให้นาคราชเล่นถวายพระเจ้าอุคคเสนแล้วค่อยปล่อยไป  วันหนึ่ง เขาได้เข้าเฝ้าพระราชาแล้วบังคับให้พระยานาคฟ้อนรำถวาย มหาชนเห็นแล้วพากันดีใจปรบมือโห่ร้อง วันนั้นเป็นวันที่ครบ ๑ เดือนแห่งการถูกจับมาพอดี
ฝ่ายนางสุมนาเทวีนาคมาณวิการะลึกถึงพระสวามีของตน นางได้ไปในโลกมนุษย์เมื่อทราบเรืองราวทั้งหมดจึงไปยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศในท่ามกลางบริษัท ณ ประตูพระราชวัง ในขณะนั้น พระยานาคกำลังฟ้อนรำถวายพระราชาเมื่อเห็นมเหสีของตนเองก็เกิดละอายพระทัยเลื้อยเข้าไปนอนขดในตะกร้าที่อยู่ของตน
 พระราชาเห็นสาวสวยมายืนร้องไห้ในอากาศก็สอบถาม นางจึงเล่าเรื่องความจริงให้ฟังว่า นาคราชที่กำลังฟ้อนรำถวายคือพระสวามีของนางสร้างความแปลกพระทัยให้พระราชาอย่างยิ่งเพราะพระองค์ทราบว่า พระยานาคมีฤทธิ์มากมายทำไมต้องตกเป็นทาสของหมองูด้วย
นางสุมนาเทวีกราบทูลให้ทราบว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระยานาคทำความเคารพพระธรรมคือเบญจศีลและพระธรรมคือการอยู่รักษาอุโบสถจึงยอมเป็นทาสหมองูและขอร้องให้พระราชาได้ช่วยสวามีของนาง
พระราชาจึงโปรดพระราชทานทรัพย์มากมายแก่ลุททกพราหมณ์เพื่อปลดปล่อยนาคราชให้หลุดพ้นจากอิสระ นาคราชอันลุททกพราหมณ์ปล่อยแล้วได้เนรมิตร่างกายเป็นมาณพน้อยโดยมี   นางสุมนาเทวีลอยยืนเคียงข้างพระภัสดาของตน
นาคราชได้ยืนประณมมือนอบน้อมพระราชาและเชื้อเชิญพระราชาให้ไปเยี่ยมวังของตนในนาคพิภพ แต่ก่อนเสด็จไป พระราชาได้ตรัสว่า พระองค์ไม่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์            กะอมนุษย์จะเป็นเพื่อนกันได้
พระยานาคได้ถวายสัตย์สาบานว่าจะไม่กล่าวคำเท็จอย่างเด็ดขาดเพราะที่รอดชีวิตมาได้           ก็เพราะพระคุณของพระราชานั่นเอง ถ้ากล่าวเท็จขอให้ตกนรกอย่าได้ผุดเกิด ทำให้พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระยานาค
จากนั้น พระราชาได้เสด็จไปยังนาคพิภพทันที พระองค์ได้เห็นสมบัติอันยิ่งใหญ่ของพระยานาค จึงสอบถามถึงเหตุผลที่พระยานาคราชได้ละทิ้งสมบัติอันยิ่งใหญ่ไปนอนรักษาศีลอุโบสถเพื่อประโยชน์อะไร พระยานาคราชจึงตรัสให้ทราบว่า เพราะต้องการจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ พระราชาจึงตรัสถามว่า มนุษยโลกประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุผลอะไร
พระยานาคราชจึงทูลให้ทราบว่า เพราะได้กำเนิดเป็นมนุษย์จึงทำให้เป็นผู้มีศีลและทำให้บรรลุถึงนิพพาน การไปเกิดในมนุษย์จะทำให้ถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะได้
จากนั้น พระยานาคราชได้กราบทูลแด่พระราชาว่า

ชนเหล่าใด มีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรองเหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนางนาคกัญญาและตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจงบำเพ็ญบุญให้มากเถิด

ความหมายของคาถา
พระยานาคราชมีพระประสงค์จะให้พระราชาตระหนักในความดีคือการทำบุญให้มาก
ครั้นพระยานาคทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอุคคเสนะทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลก จึงตรัสอำลา พระยานาคราชจึงได้ถวายสมบัติมากมายแด่พระองค์ พระราชาเสด็จออกจากนาคพิภพกลับไปสู่พระนครพาราณสีด้วยยศบริวารเป็นอันมาก เล่ากันว่า นับแต่นั้นมา            ชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น
พระพุทธเจ้าครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า
“หมองูคือเทวทัต นางนาคกัญญาสุมนาเทวีคือราหุลมารดา พระเจ้าอุคคเสนราชคือสารีบุตร ส่วนจัมเปยยนาคราชคือเราตถาคตนั่นเอง”
 
สรุปสุภาษิตจากชาดกนี้
                ศีลเป็นสิ่งยอดเยี่ยมในโลก

วิเคราะห์แนวคิดเชิงจริยธรรมอันเป็นหัวใจหลักในชาดกนี้
                ชาดกเรื่องนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความดีของการรักษาศีลอุโบสถคือการรักษาศีล ๘ นั่นเอง การรักษาศีล ๘ นั้น ถ้าผู้ใดกระทำในเพศฆราวาส ถือว่าผู้นั้นเป็นนักพรตในเพศฆราวาส
                อันที่จริง ถ้าบุคคลใดมีศีล ๘ โดยธรรมชาติอันมาพร้อมการบรรลุอริยมรรค ถือว่าบุคคลนั้นเป็นอริยบุคคลระดับ ๓ คืออนาคามีนั่นเอง
                ยิ่งไปกว่านั้น ชาดกเรื่องนี้ได้ให้ความสำคัญกะเพศมนุษย์มากว่า เป็นภพที่มีบุญเพราะ            อยู่กลาง ๆ ระหว่างความสุขมากและความทุกข์มากเอื้อเฟื้อทำให้บรรลุนิพพานได้ง่าย ฯ


































































ไม่มีความคิดเห็น: