มกรคายนาค (มังกรนาคราช)
มีสัตว์ในจินตนาการชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างแปลก เนื่องจากเราจะพบเป็นปูนปั้นหรือภาพจำหลัก
ตลอดจนในงานจิตรกรรม พบมากทางแถบภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน
อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน
"มกร" นี้เป็นสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการ นัยว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ
ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาค
แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาค ออกมานั้นเป็นปากจระเข้
คนโบราณจึงมักนำไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด สำหรับวัดในแถบภาคกลางจะเป็นราวบันไดนาค
แต่ทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นราวบันไดรูป "มกรคายนาค"
มีผู้คนถามกันมามากมายว่า แล้วตกลงมันคือตัวอะไรแน่ แล้วทำไมจึงต้องคายนาค
ไม่คายอย่างอื่น จริงๆ แล้วสัตว์ตัวนี้ไม่ได้มีเฉพาะบ้านเรานะครับ ในเขมร ลาว พม่า ก็มี
เขาเรียกว่า "ตัวสำรอก" ก็คือ ตัวที่คายอะไรต่อมิอะไรออกมา
ดังนั้น เวลาไปเที่ยววัดให้สังเกตบันไดพญานาคให้ดีว่าเป็นบันไดนาค
หรือเป็นบันไดมกรคายนาคกันแน่
วิธีสังเกตก็ให้ดูที่ "คอพญานาค" ว่ามีหน้าสัตว์คล้ายๆ จระเข้อ้าปากอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็ใช่เลย
แล้วจะเห็นขาของเจ้าตัวมกรซ่อนอยู่ตามเกล็ดพญานาคด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว "มกร" มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า "เหรา" อ่านว่า เห-รา
เหรา นี่ไม่ใช่หมายถึง แมงดาทะเล แต่เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
อาทิ พระธาตุ โบสถ์ วิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ
ดังนั้น จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ
ไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์
ส่วนคำว่า "มกร" นั้น เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาจาก "มังกร" ของจีน
เพราะเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอมาเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาค
หรือสำรอกพญานาค และมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป
ต่อข้อถามว่า ทำไม? มกรต้องคายนาค ในลักษณะของการสำรอกนั้น
อาจวิเคราะห์ได้ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลปะคือ "พญานาค" จะเป็นตัวแทนของกลุ่มเมือง
หรือ ชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาถึงปัจจุบันว่า "โยนก"
เมืองโยนกเชียงแสนเดิมของพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราช
ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับพญานาค เรียกว่ามีพญานาคมาสร้างเมืองชื่อโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ
หรือโยนกนาคนคร และเมื่อเมืองนี้ล่มจมหายก็เพราะผู้คนพากันกินปลาไหลเผือก
ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพญานาคนั่นเอง ส่วนสัตว์น่ากลัวเช่น "จระเข้ เหรา"
จะเป็นตัวแทนของพวก "พยู" หรือ พุกามอันได้แก่พม่า การที่พบศิลปะแบบมกรคายนาค
ในแถบภาคเหนือพอจะอนุมานได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของงานศิลปะ
และการเมืองของพุกาม หรือ พม่าที่ครอบงำล้านนาอยู่ถึง ๒๐๐ ปีนั่นเอง
หรืออีกนัยหนึ่ง มกร จะเป็นตัวแทนของความไม่รู้ หรือ อวิชชา
ที่คายนาคออกมา เพื่อจะก้าวเข้าสู่วิชา
ในทางศาสนาพุทธ เชื่อว่า
เหรา ... หมายถึง "อุปทาน ความยึดติดในตัวเอง ปรัชญาชีวิตที่เราชอบ
วิธีดำรงชีวิตของเราและสิ่งที่เราติดพันหลงไหลอยู่"
นาค.....หมายถึง "ความมีชีวิต ชีวา กาย จิตของเรา"
ถ้าอุปาทานมันจับเรา เราก็เจ็บปวด ดิ้นรน ทุกข์ทรมาน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร
บางแห่งเป็นนาคห้าหัว หมายถึงชีวิตที่ประกอบด้วย ร่างกายที่เป็นวัตถุ จิตที่ประกอบด้วยความรู้สึก
ความทรงจำ ความคิดจินตนาการ องค์ความรู้ที่ทำให้รู้ว่าเรามีอยู่
คนรุ่นเก่าให้สติว่า เหนือฟ้ามีฟ้า เก่งแค่ไหน ความยึดติดกัดเอา ทุกข์แน่ๆ ระวังนะ?
วิธีแก้คือ ปลุกสติปัญญาดับทุกข์ให้ตื่น ระวังไม่ให้ทุกข์เกิด เมื่อทุกข์เกิดก็กำหนดรู้และละเสีย
(พระวัดอุโมงค์เมตตาอธิบายให้)
ราม วัชรประดิษฐ์