ผู้มีบุญ

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

072 หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 พระอาจารย์ปรีชา วัดสุริย์วงศ์วนาราม ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ โทรมาให้ผมไปพบ แล้วท่านก็มอบพระหลวงปู่ศุข พร้อมด้วยลูกแก้ว 3 ลูก ให้ บอกว่าปู่ใหญ่ฯ ให้นำมามอบให้ พระอาจารย์บอกอีกว่ามีทหารที่เป็นลูกศิษย์อีกกลุ่มอยากได้เหมือนกันแต่ก็ยังไม่ได้ (องค์นี้ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด ดูแล้วสวยงามมากครับ)



พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)
 
วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท 

นามเดิม ท่านชื่อ ศุข นามสกุล เกษเวช ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยา ก็มี เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ( เรียกกันในสมัยนั้น ปัจจุบันเรียก บ้านปากคลอง ) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โยมบิดาชื่อ น่วม โยมมารดาชื่อ ทองดี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลนี้ มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน ( ๑ ) หลวงปู่ศุข ( ๒ ) นางอ่ำ ( ๓ ) นายรุ่ง ( ๔ ) นางไข่ ( ๕ ) นายสิน ( ๖ ) นายมี ( ๗ ) นางขำ ( ๘ ) นายพลอย ( ๙ ) หลวงพ่อปลื้ม
    หลวงปู่นั้น ท่านมีลุงคนหนึ่งชื่อ แฟง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางเขน จังหวัดพระนคร ( ในสมัยนั้น ) มีอาชีพ ทำสวน ไม่มีบุตรหรือธิดา จึงได้มาขอหลานจากโยมบิดามารดาหลวงปู่ศุขไปเลี้ยง โยมท่านก็อนุญาตให้เลือกเอา ลุงแฟงก็เลือกเอาคนโต หรือ เรียกว่าคนหัวปี คือ หลวงปูศุข เข้าใจว่าขณะนั้นอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เมื่อหลวงปู่ศุขไปอยู่กับลุงแฟง เจริญเติบโตที่ตำบลบางเขน จนอายุได้ ๑๘ ปี ก็ได้ภรรยาคนหนึ่งชื่อ สมบุญ อยู่ครองคู่กันโดยประกอบอาชีพทำสวน ต่อมาได้กำเนิดบุตรชาย ๑ คน ชื่อ สอน การอุปสมบทของหลวงปู่ศุขนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ที่วัดโพธิ์บางเขน ( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง ) โดยมี พระครูเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขน เป็น พระอุปัชฌาย์ พระถายมเป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้อุปการะทั้งสิ้น ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะการเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย ๒ ถึง ๓ วัน จึงจะถึง
เมื่อได้อุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสี่ยงโด่งดังในสมัยนั้นจนชำนาญดีแล้ว จึงกราบลาอาจารย์กลับบ้านเกิดของท่าน โดยมาพักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งข้างหมู่บ้านของท่าน ชื่อวัดอู่ทอง ปัจจุบันนี้เรียกว่า วัดปากคลอง ชาวบ้านแถวนั้นมีความศรัทธาเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น เพื่อที่ว่าจะได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นมาจนท่านมรณภาพ ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ได้เริ่มพัฒนาในท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยจากวัดร้างที่ไม่มีอะไรเลย จนถึง พุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบจนถึงทุกวันนี้ ยังมีพระอุโบสถและมณฑป ปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนการอบรมสั่งสอนนั้นท่านได้แนะแนวการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นคุณและโทษของผลการปฏิบัติตนในทางที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร จนประชาชนแถวนั้นมีความประพฤติดีมีศีลธรรมเป็นส่วนมาก
    อนึ่ง มีผู้กล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์เก่งมาก สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย เสกก้านกล้วยให้เป็นงูได้ และเรื่องอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรี มีอีกมาก จนถึงกับสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในราชวงจักรีได้มาทดลองดู เห็นจริงจึงได้ยอมมอบตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา และได้วาดภาพพุทธประวัติด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ที่อุโบสถด้านในหน้าอุโบสถ ซึ่งปรากฏจนทุกวันนี้ หลวงปู่ศุข ท่านมีเมตตามากจึงมีศิษย์เป็นอันมากที่มาเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิมลคุณากร และเป็นเจ้าคณะแขวง ( ปัจจุบันเรียกว่าเจ้าคณะอำเภอ ) เป็นองค์แรกของอำเภอวัดสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด ท่านมรณภาพเมื่อ เดือน ๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ไม่ปรากฏวันที่ที่แน่นอน คำนวณอายุได้ ๗๖ ปี วันสวดพระพุทธมนต์ทำศพอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จึงประชุมเพลิง
    ปัจจุบันชาวจังหวัดชัยนาทผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างรูปหุ่นขี้ผึงไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อจะได้ทำการสักการบูชาโดยทั่วกัน กรมทหารเรือเห็นความสำคัญ จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมมณฑป เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้ประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างจังหวัด หลั่งไหลมาสักการะบูชาทุก ๆ วันมิได้ขาด วัดปากคลองมะขามเฒ่า จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาทต่อไป
คาถาอาราธนาพระหลวงปู่ศุข
ตั้งนะโม ๓ จบ : อิติอะระหังสุคะโต เกสโรนามะเต ประสิทธิเม อิหิอะโห นะโมพุทธายะ
คาถาหลวงปู่ศุข : สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทธโธภะคะวาติ มะอะอุ



หน้าตัก 3 นิ้ว สูง 4.5 นิ้ว ลูกแก้วสารพัดนึก 3 ลูก






















ไม่มีความคิดเห็น: